กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรป่าชุมชนบ้านห้วยสะพานสามัคคี ตำบลหนองโรง อำเภอพนมทวน จังหวัดกาญจนบุรี ในอดีตที่ผ่านมาบ้านห้วยสะพานมีป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยพันธุ์ไม้นานาชนิดต้นไม้ส่วนใหญ่จะเป็นไม้ขนาด 4-6 คนโอบในป่ามีความร่มรื่นมีสัตว์ป่านานาชนิดและมีน้ำในลำห้วยไหลตลอดทั้งปีป่าไม้เป็นพื้นที่สาธารณะประโยชน์ของชุมชนมีลักษณะเป็นพื้นที่ราบเดิมเป็นป่าไม้เบญจพรรณมีต้นรังเป็นจำนวนมาก จึงเรียกป่าแห่งนี้ว่า “ป่ารังหนา” ต่อมาในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ปี พ.ศ. 2488 มีการสร้างทางรถไฟเพื่อใช้ในสงครามทหารญี่ปุ่นได้เกณฑ์เชลยศึกเข้ามาตัดต้นไม้เพื่อทำหมอนรถไฟใช้ทำฟืนหลาทำสะพานค่ายทหารต่อจากนั้นเป็นต้นมาชีวิตความเป็นอยู่ของราษฎรและบ้านเมืองมีการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างรวมทั้งชาวบ้านห้วยสะพานและป่าไม้บริเวณบ้านห้วยสะพานถูกตัดนำไปใช้ประโยชน์ต่างๆมากขึ้นโดยราษฎรในพื้นที่และต่างพื้นที่ได้ตัดไม้ไปทำบ้านเรือนที่อยู่อาศัยการทำไม้หมอนรางรถไฟ และตัดไม้เพื่อนำไปเผาถ่านเพื่อใช้สอยและเพื่อค้าขายต่อมามีการตั้งโรงงานกระดาษขึ้นที่อำเภอเมืองจังหวัดกาญจนบุรีได้มีการขอใช้พื้นที่ป่าอุดมสมบูรณ์ตัดไม้รวกไม้ไผ่มาทำเยื่อกระดาษตัดต้นไม้เพื่อมาทำไม้หมอนรางรถไฟ และเป็นเชื้อเพลิง เมื่อต้นไม้ถูกโค่นลงป่าเริ่มเสื่อมโทรมมีราษฎรในพื้นที่รวมทั้งที่มาจากพื้นที่อื่นได้เริ่มเข้ามาจับจองและแผ้วถางป่าเป็นที่ทำกินซึ่งในช่วงแรกนี้การบุกรุกยึดถือครอบครองเป็นไปอย่างช้าๆ หลังจากผลกระทบที่ได้รับ ทำให้เกิดการรวมตัวของบุคคลในชุมชนขึ้นมาต่อต้านกลุ่มนายทุนกลุ่มผู้มีอิทธิพลควบคู่ไปกับขอรับการช่วยเหลือจากหน่วยงานราชการให้เข้ามาให้ความรู้ในเรื่องป่าชุมชน การบริหารจัดการของชุมชนแก่ชาวบ้านห้วยสะพานพร้อมกับทำแนวเขตเพื่อป้องกันมิให้ผู้ใดรุกล้ำเข้ามาอีกโดยใช้แนวต้นไม้ที่ขึ้นตามธรรมชาติต่อมาได้มีการขยายป่าชุมชนโดยการรังวัดและปักหลักเขตด้วยเสาคอนกรีตและทำคันดินเป็นแนวเขตป่า จนกระทั่งวันที่ 6 เมษายน 2543 ได้มีตัวแทนชาวบ้านจากบ้านห้วยสะพาน บ้านใหม่ บ้านหนอง- กระจันทร์และบ้านดอนเจริญ รวม 4 หมู่บ้าน ได้ร่วมกันประชุมที่วัดห้วยสะพาน และได้มีมติเอกฉันท์ ให้ตั้งชื่อป่ารังหนาแห่งนี้ ว่า “ป่าชุมชนบ้านห้วยสะพานสามัคคี”และเห็นชอบร่วมกันให้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อบำรุงดูแลรักษาและป้องกันการบุกรุกทำลายป่าชุมชนพร้อมทั้งส่งเสริมให้เกิดกิจกรรมในด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเรียกว่า “คณะกรรมการป่าชุมชนบ้านห้วยสะพานสามัคคี” ป่าชุมชนบ้านห้วยสะพานสามัคคี มีการจัดการบริหารด้วยระบบพึ่งพาตนเองมาโดยตลอดเริ่มต้นโดยได้รับการสนับสนุนด้านการเงินจากชาวบ้านในชุมชนบ้านห้วยสะพานทั้ง 4 หมู่ ด้วยการบริจาคเป็นครั้งคราว จำนวนเงินที่ได้รับไม่มากมายนัก การบริหารจัดการจึงเป็นไปในลักษณะค่อยเป็นค่อยไป หลังจากนั้นเป็นต้นมาชุมชนบ้านห้วยสะพานได้มีโอกาสให้การต้อนรับคณะบุคคลจากหน่วยงานภาครัฐและประชาชน เข้ามาศึกษาดูงานด้านการบริหารจัดการของชุมชนในเรื่องป่าเป็นจำนวนมาก ทำให้เกิดแนวคิดที่จะสร้างอาชีพ เสริมรายได้ให้กับคนในชุมชน จึงเกิดการรวมตัวของชาวบ้าน จัดตั้งเป็นกลุ่มอาชีพต่าง ๆ ทำผลิตภัณฑ์ จำหน่ายให้กับคณะที่มาศึกษาดูงาน ต่อมาในปี พ.ศ. 2546 สำนักงานเกษตรอำเภอพนมทวน ได้จัดตั้งกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรขึ้น และให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องการแปรรูป โดยเทคโนโลยีผสานกับภูมิปัญญาของผืนป่าสู่คนเมือง โดยเน้นการพัฒนาความเข้มแข็งของครอบครัวและชุมชนเป็นหลัก กล่าวคือส่งเสริมให้ชุมชนทำธุรกิจที่สอดคล้องกับเงื่อนไขของตนเอง ตามความสามารถของชุมชน ความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากร และความได้เปรียบโดยเปรียบเทียบกับปัจจัยการผลิต รวมถึงวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยพัฒนาโอกาสและความสามารถของชุมชนในการผลิต การแปรรูป การบริการ และกิจกรรมทางเศรษฐกิจอื่น ๆ อย่างครบวงจร โดยเฉพาะการส่งเสริมให้เกษตรกรแปรรูปผลผลิต เพิ่มมูลค่า สร้างรายได้ให้เกิดขึ้นในชุมชนและสามารถพึ่งตนเองได้
เครดิตภาพ Waraporn Ch.
กลุ่มแม่บ้านป่าชุมชนบ้านห้วยสะพานสามัคคี
สถานที่ในจังหวัด: กาญจนบุรี
รีวิวสถานที่
เคยไปที่นี่มาแล้วหรือเปล่า? เขียนรีวิวให้คนอื่นอ่านได้นะ
ช่องทางการติดต่อ
เบอร์โทร
034 579 293