คลองรอบกรุง (อักษรโรมัน: Khlong Rop Krung) เป็นคลองขุดรอบพระนครชั้นกลาง (ชั้นที่สอง) ที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดเกล้าฯให้ขุดขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2326 เมื่อครั้งย้ายเมืองหลวงจากกรุงธนบุรีมาอยู่ฝั่งพระนคร ในครั้งนั้นพระนครฝั่งตะวันออก มีภูมิประเทศเป็นแหลมโค้ง มีลำน้ำโอบอยู่สามด้าน ส่วนด้านในซึ่งติดกับผืนแผ่นดิน ได้ขุดเป็นคูเมืองไว้ตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรี จึงมีสัณฐานคล้ายเกาะ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รื้อซากป้อมบางกอกเดิมกับกำแพงเมืองครั้งกรุงธนบุรี เพื่อขยายกำแพงและคูพระนครใหม่ให้กว้างออกไป คูพระนครใหม่นี้โปรดเกล้าฯ ให้ขุดขนานไปกับแนวคูเมืองเดิม เริ่มจากริมแม่น้ำตอนบางลำพู วกไปออกแม่น้ำข้างใต้ บริเวณเหนือวัดสามปลื้ม ยาว 85 เส้น 13 วา กว้าง 10 วา ลึก 5 ศอก พระราชทานนามว่า "คลองรอบกรุง" ประชาชนโดยมากมักเรียกชื่อคลองแตกต่างตามสถานที่ที่คลองผ่าน เช่น ตอนต้นเรียก "คลองบางลำพู" ตามชื่อตำบล เมื่อผ่านสะพานหันเรียก "คลองสะพานหัน" เมื่อผ่านวัดเชิงเลน เรียก "คลองวัดเชิงเลน" และช่วงสุดท้ายเรียก "คลองโอ่งอ่าง" เพราะเคยเป็นแหล่งค้าขายเครื่องดินเผาของชาวมอญและชาวจีน เนื่องในโอกาสสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ พ.ศ. 2525 คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2525 ให้เรียกชื่อคลองนี้ให้ถูกต้องว่า "คลองรอบกรุง"
เครดิตภาพ Facebook Page : TAT Photograph Section
คลองรอบกรุง
สถานที่ในจังหวัด: กรุงเทพมหานคร