ชุมชนท่ามะโอ ตั้งอยู่ทางฝั่งเหนือของสะพานข้ามแม่น้ำวัง บริเวณสะพานเขลางค์ เป็นชุมชนเก่าแก่ของเมือง มีมาตั้งแต่สมัยที่ชาวพม่าเข้ามาทำการค้าไม้สักกับชาวอังกฤษในจังหวัดลำปาง ในช่วงเวลานั้นได้สร้างบ้านเรือนมากมาย รวมถึงวัดวาอารามที่สำคัญของชาวชุมชนท่ามะโอ อย่างเช่น วัดประตูป่อง เจดีย์วิหารวัดสร้างเมื่อ พ.ศ. 2409 โดยเจ้าญาณรังสี ผู้ครองนครลำปาง โบสถ์เป็นฝีมือช่างสิบสองปันนา มีศิลปะจีนผสม วัดนี้มีสิ่งสำคัญทางประวัติศาสตร์ คือ ประตูเมืองโบราณ (ประตูป่อง) มีซากหอรบสมัยพระยากาวิละครองนครลำปาง คุณสดศรี ขัตติยวงศ์ อยู่บ้านเลขที่ 19 ถนนป่าไม้ ชุมชนท่ามะโอ ต.เวียงเหนือ อ.เมืองลำปาง เป็นคนในพื้นที่ จ.ลำปางโดยกำเนิด อดีตมีอาชีพรับราชการครู ปัจจุบันเกษียณอายุราชการแล้ว และได้รับหน้าที่เป็น กรรมการชุมชนท่ามะโอ และกรรมการการท่องเที่ยว จ.ลำปาง คุณสดศรี สามารถให้ข้อมูลแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมและวิถีชุมชน ให้กับนักท่องเที่ยวอย่างเชี่ยวชาญ รู้จักเส้นทางต่างๆในชุมชนท่ามะโอเป็นอย่างดี นักท่องเที่ยวสามารถขอความรู้ด้านประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมที่สำคัญของชุมชนท่ามะโอได้อย่างดีและสนุกสนานไปพร้อมกัน ภายในชุมชนท่ามะโอ มีแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมทางภาคเหนือหลายแห่ง ทั้ง วัดประตูป่อง ที่มีความเก่าแก่มากกว่า 100 ปี กำแพงเมืองโบราณ เป็นกำแพงเมืองโบราณ เขลางค์นคร รู่น2 เป็นแนวอิฐปนดิน มีรูอยู่ตรมแนวกำแพง สมาคมรถม้า จ.ลำปาง เป็นสถานทีที่สร้างล้อรถม้าด้วยไม้แห่งเดียวใน จ.ลำปาง ซึ่งหาดูยากในปัจจุบัน บ้านโบราณ เป็นบ้านเก่าของคนในชุมชนที่สร้างด้วยไม้ คาดว่าน่าจะมีอายุมากกว่า 100 ปี และถนนสายวัฒนธรรม ลำปาง ถือว่าเป็นถนนที่เก่าแก่ ที่เชื่อมกำแพงโบราณเขลางค์นคร รุ่น1 รุ่น2 ไว้ด้วยกัน สำหรับชุมชนท่ามะโอ มีแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมอย่างมากมายแล้ว ยังมีอาหารการกินที่เป็นเอกลักษณ์อย่าง แกงฮังเล แกงกระด้าง และขนมวง โดยสามารถเปิดสอนให้คนรุ่นต่อไปได้สืบทอดวิธีการทำให้อยู่ต่อไป โดยเฉพาะ ขนมวง เป็นขนมที่ใช้ในประเพณี ฟ้อนผีเม็ง นำขนมวงใส่ในภาชนะ และผีสาวใช้ป้อนผีบ่าวในการฟ้อนของผีบ่าวผีสาว โดยทำด้วยแป้งข้าวเหนียว ผสมน้ำตาล นวดให้เป็นเนื้อเดียวกัน แล้วนำมาคลึงให้เป็นเส้นยาวๆ แล้วขดเป็นรูปวงกลม นำไปทอด ราดด้วยน้ำอ้อยที่เคี่ยวแล้ว เพียงแค่นี้ก็สามารถนำไปใช้ในพิธีดังกล่าวได้
เครดิตภาพ facebook : ชุมชนท่ามะโอ ลำปาง
ชุมชนท่ามะโอ
สถานที่ในจังหวัด: ลำปาง