อาคารแบบยุโรปสีขาวที่ผสมผสานกับสถาปัตยกรรมท้องถิ่นเมืองน่านหลังนี้ คือสถานที่บรรจุสมบัติล้ำค่าอันเป็นมรดกตกทอดของน่านจากอดีตสู่ปัจจุบัน เดิมทีที่นี่คือ "หอคำ" อันเป็นที่ประทับและว่าราชการของพระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชฯ เจ้าผู้ครองนครน่าน โดยสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2475 และใช้เป็นที่ตั้งศาลากลางจังหวัดแห่งแรกของจังหวัดน่าน ต่อมาในปี พ.ศ. 2517 ได้รับการปรับปรุงอีกครั้งให้เป็นสถานที่ตั้งพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติน่าน โดยภายในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ แบ่งออกเป็นสองชั้น พื้นที่ชั้นล่างเป็นที่จัดแสดงชีวิตความเป็นอยู่ของชนเผ่าต่าง ๆ ในจังหวัดน่าน รวมทั้งเทศกาลงานประเพณีที่สำคัญของจังหวัด เช่น การสืบชะตา การแข่งเรือ ส่วนชั้นบนนั้น จัดแสดงโบราณวัตถุสมัยต่าง ๆ ที่พบในจังหวัดน่าน ตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ จนถึงยุคเจ้าผู้ครองนครน่าน โดยมีวัตถุโบราณที่น่าดูน่าชมอย่างยิ่ง ได้แก่ - งาช้างดำ วัตถุมงคลคู่บ้านคู่เมืองน่าน เป็นงาช้างข้างซ้าย ยาว 94 เซนติเมตร วัดโดยรอบส่วนที่ใหญ่สุดได้ 47 เซนติเมตร มีน้ำหนัก 18 กิโลกรัม ได้มาในสมัยพระยาการเมืองเจ้าผู้ครองนครน่านองค์ที่ 5 - เครื่องปั้นดินเผาเคลือบ อายุราวพุทธศตวรรษที่ 21 จากเตาเผาบ่อสวก ตำบลสวก อำเภอเมือง จังหวัดน่าน - พระพุทธรูปปางมารวิชัย ศิลปะล้านนา อิทธิพลศิลปะพม่า พุทธศตวรรษที่ 25 - พานพระศรีเครื่องเงินลงยา เครื่องประกอบอิสริยยศของเจ้าผู้ครองนครน่านองค์สุดท้าย - วัดที่เล็กที่สุดในเมืองไทย เป็นอันซีนที่หาชมได้ในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้
เครดิตภาพ ททท.สำนักงานน่าน
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติน่าน
สถานที่ในจังหวัด: น่าน
รีวิวสถานที่
เคยไปที่นี่มาแล้วหรือเปล่า? เขียนรีวิวให้คนอื่นอ่านได้นะ
ช่องทางการติดต่อ
เบอร์โทร
0 5452 1127