บริเวณคุ้มบ้านสิงห์ท่า เป็นย่านเมืองเก่าที่ปรากฏนามอยู่ในประวัติศาสตร์การก่อตั้งเมืองปัจจุบัน บริเวณนี้ยังคงมีตึกแถวโบราณที่มีรูปทรงและลวดลายงดงามและได้รับการอนุรักษ์ไว้เป็นอย่างดี เหมาะแก่การท่องเที่ยวด้านศิลปวัฒนธรรมพื้นเมือง ในอดีตยโสธรมีความเป็นมาตั้งแต่ยุคทวารวดี โดยมีบันทึกในพงศาวดารกล่าวว่า พระเจ้าราชวงศา (พระวอ) เสนาบดีเก่าแห่งเมืองเวียงจันทน์ ท้าวหน้า ท้าวคำผง ท้าวทิตพรหม และท้าวมุม พร้อมด้วยไพร่พลอพยพไปอาศัยกับเจ้านครจำปาศักดิ์ เมื่อมาถึงดงผีสิงห์ เห็นทำเลที่ตั้งเหมาะสมแก่การตั้งถิ่นฐานจึงสร้างเมืองขึ้นที่บ้านสิงห์ท่า (เมืองสิงห์ท่า)และยกฐานะเป็นเมืองยโสธรในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ยโสธรถูกรวมเข้ากับกองหัวเมืองลาวฝ่ายตะวันออกเฉียงเหนือมีเมืองอุบลราชธานี เป็นเมืองเอก เรียกว่า มณฑลลาวกาว ต่อมาเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. 2456 ยโสธรกลายเป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดอุบลราชธานี และในปี พ.ศ. 2515 จึงได้ยกฐานะขึ้นเป็นจังหวัดลำดับที่ 71 ของประเทศไทย "บ้านสิงห์ท่า"เป็นย่านการค้าตั้งแต่สมัยโบราณและได้เจริญขึ้นเมื่อสมัยฝรั่งเศสเข้ามามี อิทธิพลมากในภูมิภาคนี้ในช่วงนั้นเองผู้ที่มีฐานะดี มีการนำเข้าช่างฝีมือจากเวียดนามจำนวนมากเข้ามาสร้างบ้านเรือน ทำให้บ้านเรือนมีรูปแบบศิลปกรรมแบบจีนผสมยุโรปที่งดงาม ปัจจุบันยังคงเหลือให้เห็นบนสองข้างทาง ถนนศรีสุนทร นครทุม อุทัยรามฤทธิ์ และ วิทยธำรง บางแห่งยังคงความสมบูรณ์อยู่มาก บอกถึงบรรยากาศของความเป็นอดีต ขณะที่อีกหลายแห่งถูกปล่อยให้รกร้างขาดคนอาศัย สร้างเสน่ห์ให้บ้านสิงห์ท่าสวยงามมาจนทุกวันนี้ เที่ยวชมเมือง จากความเป็นมาของเมืองนี้ ปัจจุบันยังคงเห็นรูปรอยความเจริญได้ที่ชุมชนบ้านสิงห์ท่า ชาวบ้านในชุมชนล้วนถ้อยทีถ้อยอาศัย อยู่อย่างเรียบง่ายและสงบ มี ตึกแถวโบราณ งดงามด้วยสถาปัตยกรรมแบบชิโนโปรตุกีส ยุคสมัยเดียวกับที่จังหวัดภูเก็ต ถนนรอบบริเวณย่านสิงห์ท่า เป็นทางลัดเลาะเชื่อมต่อถึงกันระหว่างชุมชน ตลาด โรงเรียน รวมถึงวัด ซึ่งเป็นศูนย์รวมใจของชาวพุทธทั้งหลาย ยังมี ศาลเจ้าพ่อหลักเมือง สร้างด้วยสถาปัตยกรรมจีนดูตระการตา ในย่านนี้เป็นแหล่งทำปลาส้มและลอดช่องยโสธร ของฝากชื่อดังที่ไม่ควรพลาดชิมอีกด้วย
เครดิตภาพ ททท.สำนักงานยโสธร
ย่านเมืองเก่าบ้านสิงห์ท่า
สถานที่ในจังหวัด: ยโสธร