ตึกสวยเด่นด้วยลักษณะอาคารยอดปรางค์ 3 ยอด บริเวณถนนหน้าพระธาตุใกล้สนามหลวง ชวนให้เข้าไปเยี่ยมชมความงดงามมีชื่อว่า ตึกถาวรวัตถุ หรือที่รู้จักกันในชื่อ "ตึกแดง" ซึ่งแต่เดิมตึกนี้ เคยเป็นหอสมุดแห่งชาติ โดยรัชกาลที่ 5 ได้โปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2448 เพื่อให้เป็นที่เล่าเรียนของพระสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย จนในเวลาต่อมาได้โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งมหาธาตุวิทยาลัยขึ้น ณ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ปัจจุบันที่นี่จึงกลายเป็นที่จัดแสดงนิทรรศการพระราชประวัติ และพระราชกรณียกิจในรัชกาลที่ 5 ซึ่งภายในแบ่งส่วนนิทรรศการออกเป็น 7 ส่วน ได้แก่ ส่วนที่ 1 "ห้องปิยมหาราช" จัดแสดงเนื้อหา ภาพพระราชประวัติ และพระราชกรณียกิจที่สำคัญ รวมทั้งอัญเชิญพระบรมราโชวาทในวาระต่าง ๆ มาไว้ในส่วนนี้ ส่วนที่ 2 "ห้องราชเคียงประชา" จัดแสดงพระราชกรณียกิจที่ยังผลให้คนไทยมีความเสมอภาคในสังคม โดยเฉพาะการเลิกทาส ทำให้ราษฎรไทยเป็นไทแก่ตัว ส่วนที่ 3 "ห้องธำรงเอกราช" จัดแสดงพระบรมราชวิเทโศบาย ในการเจริญพระราชไมตรีกับต่างประเทศ ช่วยให้ชาติไทยผ่านพ้นวิกฤตการณ์ทางการเมือง จากยุคล่าอาณานิคม ส่วนที่ 4 "ห้องสยามใหม่" จัดแสดงการวางรากฐานกิจการด้านสาธารณูปโภคของไทย พื้นฐานสำคัญในการพัฒนาชาติ ส่วนที่ 5 "ห้องมรดกสถาปัตยกรรมแห่งสยาม" จัดแสดงอาคารจำลอง 3 มิติของสถาปัตยกรรมสำคัญ 5 แห่งที่เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 ส่วนที่ 6 "ห้องมรดกความทรงจำแห่งโลก" จัดแสดงเอกสารทางประวัติศาสตร์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่เกี่ยวกับการพัฒนาและการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยระหว่าง พ.ศ. 2411-2453 ซึ่งองค์การยูเนสโกประกาศให้เป็นมรดกความทรงจำ แห่งโลก เมื่อปี พ.ศ. 2552 ซึ่งสามารถเลือกหยิบหนังสือมาอ่านและอ่านสำเนาเอกสารบางส่วน ด้วยระบบหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ (E-Book) ได้ และส่วนที่ 7 "ปิยมหาราชรฤก" จัดแสดงภาพถ่ายส่วนพระองค์ที่หาดูได้ยากยิ่งในปัจจุบัน ก่อนจะแวะซื้อของที่ระลึกเก็บเป็นความประทับใจ อย่างโปสต์การ์ดภาพย้อนอดีตเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของไทยกลับบ้านได้ด้วย ที่ตั้ง : ถนนหน้าพระธาตุ แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพฯ เปิดทำการวันพุธ-วันอาทิตย์ (หยุดวันจันทร์-อังคาร และวันหยุดนักขัตฤกษ์) ตั้งแต่เวลา 09.30-16.00 น. ไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ ในการเข้าชม สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 0 2222 4867, 0 2221 6830
เครดิตภาพ ททท.สำนักงานกรุงเทพมหานคร
ตึกถาวรวัตถุ (ตึกแดง)
สถานที่ในจังหวัด: กรุงเทพมหานคร
รีวิวสถานที่
เคยไปที่นี่มาแล้วหรือเปล่า? เขียนรีวิวให้คนอื่นอ่านได้นะ
ช่องทางการติดต่อ
เบอร์โทร
0 2222 4867
วันเวลาทำการ
- วันพุธ:09:30 - 16:00
- วันพฤหัสบดี:09:30 - 16:00
- วันศุกร์:09:30 - 16:00
- วันเสาร์:09:30 - 16:00
- วันอาทิตย์:09:30 - 16:00