กล่าวกันว่าเหตุที่สร้างศาลแห่งนี้สืบเนื่องจากคหบดีผู้หนึ่งได้เจ็บป่วยด้วยโรคอัมพาตมาช้านาน จนมีผู้มาเข้าฝันบอกให้สร้างศาลแห่งนี้ขึ้นตรงพื้นที่ในปัจจุบัน ท่านจึงได้สร้างศาลถวาย และเรียกว่าศาลเจ้าพ่อขุนสามชน นับแต่นั้นมา อาการของคหบดีผู้นั้นก็หายเป็นปลิดทิ้ง เมื่อเรื่องราวนี้ได้แพร่กระจายออกไป ชาวบ้านจึงพากันเดินทางเข้ามาสักการะ และให้ความเคารพศาลนี้กันอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง อย่างไรก็ตาม ศาลเจ้าพ่อขุนสามชนแห่งนี้ มีที่มาที่เกี่ยวพันกับตำนานพ่อขุนสามชน เจ้าเมืองฉอดในอดีตซึ่งก็คืออำเภอแม่ระมาดในปัจจุบัน โดยพ่อขุนสามชนนั้นเป็นราชบุตรองค์โตของพ่อขุนจันคำเหลือง เจ้าเมืองฉอด และ เจ้าแตงอ่อน (เจ้ามุกขวดี) ครั้นพ่อขุนจันคำเหลืองสวรรคตแล้ว พ่อขุนสามชนราชบุตรก็ได้สืบราชสมบัติในเมืองฉอดแทนพระราชบิดา โดยมีเจ้าแม่มโนราห์เป็นพระชายา หลังจากสืบราชสมบัติได้ไม่นาน พระองค์ก็เริ่มทำสงครามแผ่ขยายอาณาเขตเพราะความเป็นขุนศึกผู้เชี่ยวชาญเชิงยุทธ์ และเหตุที่พ่อขุนสามชนทำศึกกับสุโขทัยนั้น เกิดเพราะความเข้าใจผิดกัน ทำให้เกิดศึกสงครามซึ่งต้องสูญเสียชีวิตคนไทยที่บาดเจ็บล้มตายเป็นจำนวนมาก ครั้นภายหลังพระองค์ทรงทราบถึงความจริง ก็รู้สึกเสียพระทัย จึงได้ตัดสินพระทัยสละราชสมบัติให้ พ่อขุนพุฒวงษ์ยนต์หงษ์ พระอนุชา และได้ตรัสสอนว่าให้ดูแลทุกข์สุขของราษฎรทุกคนเหมือนลูกหลาน จงรวมคนไทยที่แตกแยกเข้าด้วยกัน และหากเกิดศัตรูที่เป็นคนต่างชาติจะมาเอาแผ่นดิน ก็จงรวมพลังต่อสู้เพื่อผืนแผ่นดินไทย
เครดิตภาพ ททท.สำนักงานตาก
ศาลเจ้าพ่อขุนสามชน
สถานที่ในจังหวัด: ตาก