เขาเก้าเส้ง (วัดเขาเก้าแสน) เป็นเขาหินลูกเล็ก ๆ อยู่ริมทะเล ทางตอนใต้ของหาดชลาทัศน์ พื้นที่โดยรอบเป็นชุมชนชาวประมง มีตำนานเล่าถึงเขาแห่งนี้ หรือที่เรียกกันในภาษาพื้นเมืองคือ “หัวนายแรง” ว่า “ครั้งหนึ่งทางเมืองนครศรีธรรมราชกำหนดบรรจุพระบรมสารีริกธาตุในเจดีย์ บรรดา 12 หัวเมืองปักษ์ใต้ต่างนำเงินทองไปบรรจุในพระบรมธาตุ เมืองที่นายแรงเป็นเจ้าเมืองก็เป็นเมืองขึ้นนครศรีธรรมราชด้วย นายแรงผู้มีความศรัทธาในพุทธศาสนาอย่างแรงกล้า ได้ขนเงินทองจำนวนมากถึงเก้าแสน บรรทุกขึ้นเรือสำเภาพร้อมด้วยไพร่พลออกเดินทางไปนครศรีธรรมราช ขณะกำลังเดินทาง เรือสำเภาถูกคลื่นลมชำรุด จึงเข้าจอดเรือที่ชายฝั่งแห่งหนึ่ง เพื่อซ่อมแซมเรือ พอได้ทราบข่าวว่าทางเมืองนครศรีธรรมราช ได้บรรจุพระบรมสารีริกธาตุเสร็จแล้ว นายแรงเสียใจมาก จึงให้ไพร่พลขนเงินทองบรรจุไว้บนยอดเขาลูกหนึ่ง และสั่งให้ลูกเรือตัดหัวของตนไปวางไว้ที่ยอดเขา และนายแรงได้กลั้นใจตาย ลูกเรือจึงจำใจตัดหัวเจ้านายไปวางไว้บนยอดเขาตามคำสั่ง เขาลูกนี้ภายหลังเรียกว่า “เขาเก้าแสน” เรียกเพี้ยนไปเป็น “เก้าเส้ง” ก้อนหินที่ปิดทับบนยอดเขาเรียกว่า“หัวนายแรง” ชาวบ้านเชื่อว่าดวงวิญญานของนายแรงยังเป็นปู่โสมเฝ้าทรัพย์มาจนทุกวันนี้” บนเขาเก้าเส้งยังเป็นที่ตั้งของวัดเขาเก้าแสน ภายในวัดมี “วิหารพระพุทธมารดา” ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปางประสูติ และกลางลานวัดประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัยองค์ใหญ่นามว่า “พระพุทธเมตตา” จากตัววัดมีบันไดหินเดินขึ้นไปสู่เนินเขาใกล้ ๆ กัน บนยอดเนินประดิษฐาน “พระเจดีย์ยอดเขาเก้าเส้ง” เป็นเจดีย์ทรงลังกาก่ออิฐถือปูน ศิลปะรัตนโกสินทร์ตอนต้น การเดินทาง จากตัวเมืองสงขลา ใช้ถนนชลาทัศน์ลงมาทางทิศใต้ จนถึงทางโค้งที่ตัดกับถนนเก้าแสน มีทางแยกให้เลี้ยวซ้าย ตรงไปและข้ามสะพานปูน จนถึงสถาบันเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งแห่งชาติสงขลา มีทางขึ้นเขาเก้าเส้งอยู่ด้านซ้ายมือ ระยะทางจากตัวเมือง 5 กิโลเมตร
เครดิตภาพ ททท.สำนักงานสงขลา
เขาเก้าเส้ง (วัดเขาเก้าแสน)
สถานที่ในจังหวัด: สงขลา