ในอดีตเสาชิงช้าคือใจกลางเมืองกรุงเทพมหานครหรือเรียกว่า"สะดือเมือง" โดยถูกกำหนดขึ้นตั้งแต่สมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งรัชกาลที่ 1 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นที่ตั้งของเทวสถานและโบสถ์ ในศาสนาพราหมณ์ รวมทั้งเสาชิงช้าด้วย ทำให้ "เสาชิงช้า" กลายมาเป็นสัญลักษณ์อันโดดเด่นของกรุงเทพมหานครมาจนถึงปัจจุบัน โดยเสาชิงช้าที่ว่านี้ เป็นเสาไม้ขนาดใหญ่สีแดง ตั้งอยู่บนแท่นหินขนาดใหญ่ มีความสูง 21.15 เมตร ฐานกลมก่อเป็นฐานปัทม์ทำด้วยหินล้างสีขาว ตามแนวโค้งของฐานติดแผ่นจารึกประวัติเสาชิงช้า เสาไม้แกนกลางคู่และเสาตะเกียบ 2 คู่ เป็นเสาหัวเม็ด ล้วนทำด้วยไม้สักกลึงกลม โครงยึดหัวเสาทั้งคู่แกะสลักสวยงาม กระจังและหูช้างไม้เป็นลวดลายไทย ทั้งหมดทาสีแดงชาด เสาชิงช้าในยุคก่อนใช้เป็นที่ประกอบพิธีโล้ชิงช้าในพระราชพิธี "ตรียัมปวาย ตรีปวาย" ของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู แต่สำหรับเสาชิงช้าที่ได้เห็นในปัจจุบันนั้นเป็นเสาต้นใหม่ ซึ่งได้จัดพิธีสมโภขน์ไปเมื่อวันที่ 11-13 กันยายน 2550 วัสดุหลักทำจากไม้สักทองจากเมืองแพร่ ปัจจุบันที่นี่กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวทาง ประวัติศาสตร์ที่สำคัญของกรุงเทพมหานคร ส่วนบริเวณใกล้เคียงกับเสาชิงช้า รวมถึงในเขตพระนครส่วนใหญ่ ยังคงสืบทอดสถาปัตยกรรมตามแบบช่วงต้นรัชกาลให้นักท่องเที่ยวได้เยี่ยมชมกันเป็นขวัญตา ที่ตั้ง : หน้าวัดสุทัศน์ฯ ถนนบำรุงเมือง แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กรุงเทพฯ การเดินทางโดยรถประจำทางสาย 12,24 หรือรถปรับอากาศสาย 12
เครดิตภาพ ททท.สำนักงานกรุงเทพมหานคร
เสาชิงช้า
สถานที่ในจังหวัด: กรุงเทพมหานคร