วันที่ 19-21 เมษายน 2567ณ บริเวณหน้าที่ว่าการอำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ
กิจกรรมการประกวดนางสงกรานต์และหนุ่มลอยชาย มีการประกวดนางสงกรานต์ เพื่ออนุรักษ์และสืบทอดประเพณีวัฒนธรรมอันดีงาม โดยเน้นความสนุกสนานรื่นเริง จึงจัดให้มีการประกวดหนุ่มลอยชายควบคู่กับการประกวดนางสงกรานต์ไปด้วย โดยผู้ได้รับตำแหน่งนางสงกรานต์และหนุ่มลอยชายจะต้องร่วมขบวนแห่ งานประเพณีสงกรานต์พระประแดง และจะต้องร่วมเล่นสะบ้าโชว์ตามบ่อนสะบ้ารามัญในชุมชนต่าง ๆ
ภาพจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
นอกจากนั้นยังมีกิจกรรมสรงน้ำพระพุทธรูป รดน้ำขอพรผู้ใหญ่ และเล่นน้ำสงกรานต์ ช่วงท้ายของสงกรานต์ชาวไทยเชื้อสายรามัญในพระประแดง จะมีประเพณีสรงน้ำพระพุทธรูป ณ วัดโปรดเกศเชษฐาราม และกิจกรรมขบวนแห่งานประเพณีสงกรานต์พระประแดง ประเพณีอันยิ่งใหญ่ของชาวรามัญ ประกอบด้วย
1. ขบวนแห่รถนางสงกรานต์ เป็นขบวนรถที่สำคัญของขบวนแห่สงกรานต์ พระประแดง ซึ่งลักษณะและรูปแบบของรถสงกรานต์ จะประกอบด้วยตัวสัตว์ประจำปี ตัวพญานาค จามร ที่ประดิษฐานเศียรของท้าวมหาพรหม
2. ขบวนแห่รถบุปผาชาติ เทศบาลเมืองพระประแดงและชุมชน หมู่บ้าน หน่วยงานต่างๆ จึงร่วมแรงร่วมใจจัดรถบุปผาชาติที่ประดับตกแต่งด้วยดอกไม้ที่สวยงามตระการตา โดยมีสาวมอญของแต่ละหมู่บ้านนั่งประจำบนรถ ในขบวนแห่สงกรานต์พระประแดงเป็นประจำทุกปี
3. ประเพณีแห่นก - แห่ปลา จัดให้มีขบวนแห่นก-แห่ปลา ร่วมในขบวนแห่ ประเพณีสงกรานต์ เพื่อไปทำพิธีปล่อยนก - ปล่อยปลา ณ พระอารามหลวงวัดโปรดเกศเชษฐาราม
4. ขบวนแห่ธงตะขาบ ชาวมอญทำธงเป็นรูปตะขาบเพื่อบูชาพระรัตนตรัย และมีความหมายเป็นปริศนาธรรม ความหมายทางโลก ตะขาบเป็นสัตว์ที่มีลำตัวยาวการปกป้องอันตรายของลูกตนโดยใช้ลำตัวโอบกอดลูกของตนไว้ เป็นตัวอย่างของการปกป้องคุ้มครองชนชาติของตน
การละเล่นพื้นบ้าน
กิจกรรมการละเล่นพื้นบ้าน (สะบ้ารามัญ) (มอญ) เรียกว่า (ว่อน-ฮะ-นิ) สะบ้าเป็นการละเล่นพื้นบ้านอย่างหนึ่งของชาวมอญที่นิยมเล่นทั่วไปตั้งแต่สมัยโบราณ ปัจจุบันการเล่นสะบ้าได้ลดความนิยมลงจนหาดูได้ยาก ซึ่งจะหาดูได้เฉพาะในเทศกาลสงกรานต์พระประแดงเท่านั้น ซึ่งจะมีการเล่นสะบ้าอยู่ 2 ชนิด คือ สะบ้าบ่อนและสะบ้าทอย ดังนี้
สะบ้าบ่อน
อุปกรณ์ในการเล่น คือ ลูกสะบ้า จำนวนผู้เล่นไม่จำกัด ทั้งนี้แล้วแต่ขนาดของบ่อน ส่วนใหญ่จะเล่นกัน ประมาณ 8 คู่ ชายหญิงในหมู่บ้านจะไม่เล่นด้วยกันเนื่องจากถือว่าเป็นพี่น้องกัน
การแต่งกาย ไม่ว่าชายหรือหญิง ต้องแต่งกาย ด้วยชุดรามัญอย่างเรียบร้อย กิริยาวาจาสุภาพตลอดเวลา โดยปกติฝ่ายชายจะนำดนตรี (ทะแยมอญ) ประกอบด้วย เปิงมาง ซอ ฉิ่ง เพื่อเป็นการกล่อมบ่อนมิให้เงียบเหงา หรืออาจจะเป็นการบรรเลง คลอเสียงร้องเพลงทะแยมอญ เมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งถูกปรับเพราะผิดกติกา
สะบ้าทอย
เป็นการเล่นกันเฉพาะในหมู่ผู้ชาย เนื่องจากต้องใช้กำลังและฝีมือ วิธีการเล่น คือ ใช้ลูกสะบ้าสำหรับตั้งจำนวน 10 ลูก ทำด้วยไม้แข็งลักษณะกลมแบน หรืออาจใช้ลูกสะบ้าที่ขายตามร้านขายยาก็ได้ ส่วนลูกสะบ้าสำหรับทอย การตั้งลูกสะบ้า ตั้งข้างละ 5 ลูกเรียงกัน ลักษณะรูปสี่เหลี่ยม ขนมเปียกปูน ห่างกัน 300 เมตร 3 ลูกแรก จะตั้งตรงกลางเรียงกัน เรียกว่า หัว– ตัว– หาง แต่ละลูกห่างกัน 30 เซนติเมตร
ส่วนอีก 2 ลูกที่เหลือ จะต้องตั้งอยู่ทางด้านซ้ายและขวาห่างจากลูกกลาง 30 เซนติเมตร เราเรียกว่าปีกขวาและปีกซ้าย
กิจกรรมการกวนกาละแมขนมคู่งานประเพณีสงกรานต์พระประแดง ชาวมอญจะทำขนมที่มอญเรียกว่า “กวันฮะกอ” หรือที่คนไทยเรียกว่า “กาละแม” กิจกรรมกล่อมบ่อนสะบ้ารามัญ การละเล่นร้องเพลงรำประกอบเพลงพื้นบ้านของชาวมอญ ประกอบด้วยเครื่องดนตรี 5 ชนิด คือ เปิงมาง ปี่ ซออู้ ซอด้วง กลองเล็ก
และยังมีกิจกรรมย้อนรำลึกถึงประวัติศาสตร์ ณ บริเวณอุทยานประวัติศาสตร์ป้อมแผลงไฟฟ้า (สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5) เพื่อย้อนรำลึกถึงประวัติศาสตร์จุดสำคัญที่สุด คือการเปิดอุโมงค์ใต้ป้อมแผลงไฟฟ้า ให้นักท่องเที่ยวและประชาชนที่สนใจทั่วไปเข้าชมฟรี และกิจกรรมพิธีทำบุญเมืองและบวงสรวงรัชกาลที่ 2
ขอบคุณภาพปกจาก เพจพระประแดงที่รัก