สวัสดีครับ จำได้ว่าตัวผมได้เริ่มเขียนบล็อกเรื่องแรก คือ รถไฟไทย เดินทางไกลต้องเตรียมอะไรบ้าง? มาถึงครั้งนี้ผมก็จะมาเขียนถึงรถไฟอีกครั้ง เพราะว่าการเดินทางได้มีการถูกเปลี่ยนแปลง และถือซะว่าเป็นการอัปเดตข่าวสารไปในตัวให้เพื่อนๆ ชาวบล็อกได้รู้แล้วกันนะครับ
อย่างที่ทุกคนทราบหรือเคยได้ยินข่าวแววๆ ว่าสถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) จะปิดการให้บริการ โอ้ว! ไม่นะ และก็ได้มีการหยิบยกถกประเด็นมีหลายคนไม่เห็นด้วยกันยกใหญ่เพราะการปิดสถานีหัวลำโพงที่อยู่ในใจกลางเมือง และย้ายไปขึ้นรถไฟที่สถานีกลางบางซื่อ หรือ สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ นั้นมันช่างไกลแสนไกล เดินทางลำบาก และดูเหมือนเพิ่มความยากเย็นให้กับประชาชนอย่างเราๆ พอสมควร จนข่าวในวันนั้นก็เงียบหายไปสถานีหัวลำโพงก็ยังคงเปิดให้บริการต่อไป
แต่!! ในที่สุดมันก็เกิดขึ้นเมื่อมีประกาศอย่างเป็นทางการ ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จะย้ายการให้บริการต้นทาง/ปลายทาง ขบวนรถไฟทางไกล จากสถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) มาให้บริการ ณ สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ตั้งแต่วันที่ 19 ม.ค. 2566
นั้นคือ
- รถไฟทางไกลสายเหนือ 14 ขบวน ได้แก่ กรุงเทพฯ-เชียงใหม่, กรุงเทพฯ-เด่นชัย ซึ่งเดิมสายเหนือมีจำนวน 18 ขบวน ปัจจุบันงดเดินรถ 4 ขบวน เช่น กรุงเทพฯ-สวรรคโลก-ศิลาอาสน์
- รถไฟทางไกลสายตะวันออกเฉียงเหนือ 18 ขบวน ได้แก่ กรุงเทพฯ-อุบลราชธานี, กรุงเทพฯ-หนองคาย ซึ่งเดิมสายอีสาน มี 24 ขบวน ปัจจุบันงดเดินรถ 4 ขบวน
- รถไฟทางไกล สายใต้ 20 ขบวน ได้แก่ กรุงเทพฯ-ชุมทางหาดใหญ่, กรุงเทพฯ-สุราษฎร์ธานี, กรุงเทพฯ-ตรัง, กรุงเทพฯ-นครศรีธรรมราช, กรุงเทพฯ-สุไหงโก-ลก ซึ่งเดิมมีจำนวน 24 ขบวน ปัจจุบันงดเดินรถ 4 ขบวน
ได้ทำการเปลี่ยนมาขึ้นที่สถานีกลางบางซื่อ หรือสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ซึ่งมันทำให้ผมค่อนข้างหนักใจ เพราะโดยระยะทางที่ผมอยู่กับสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์มันช่างไกลเหลือเกินชนิดที่ว่าต้องนั่ง รถไฟใต้ดิน หรือ MRT ยาวนานถึง 15 สถานี! กินเวลาไปครึ่งชั่วโมงเลยทีเดียว และยิ่งช่วงเย็นที่เป็นเวลาเลิกงาน ผมนี่ต้องยืนแทบตลอดสายตั้งแต่ต้นทางยังปลายทางเลยก็ว่าได้
และนี้แหละครับหากใครที่ยังคงไม่รู้และเสียเวลาเดินทางแบบผมแล้วละก็ จริงๆ ทางรัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ไม่ได้นิ่งดูดายขนาดนั้น เพราะได้มีบริการ
Shuttle Bus เชื่อมต่อสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์-หัวลำโพง ฟรี!
ย้ำนะครับว่า ฟรี!! ไม่มีค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น โดยปล่อยรถคันแรกจากสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ และสถานีรถไฟกรุงเทพ (หัวลำโพง) เริ่ม ตั้งแต่เวลา 04.30-23.00 น. ความถี่ในการปล่อยรถ ทุกๆ 30 นาที หรือตามจำนวนเที่ยวที่ขบวนรถไฟมาถึงสถานี เป็นไงกันบ้างครับผมหวังว่าบทความนี้จะมีประโยชน์ต่อเพื่อนๆ ที่เข้ามาอ่านไม่มากก็น้อยนะครับ